แนวทางการแก้ไขปัญหาพฤติกรรมและค่านิยมทางสังคมที่ไม่เหมาะสมของนักเรียน นิสิต นักศึกษาในปัจจุบัน

46

การศึกษานับว่ามีความสำคัญมากต่อการพัฒนาบุคลากรตลอดจนไปถึงเป็นพื้นฐานของการพัฒนาส่วนอื่น ๆ ด้วย เพราะไม่ว่าจะทำการพัฒนาส่วนใดต้องเริ่มมาจากการพัฒนาคนเสียก่อน ดังนั้นการพัฒนาคนสามารถทำได้หลาย ๆ รูปแบบ อย่างที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาคนคือการให้การศึกษา ดังนั้นการพัฒนาประเทศต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาคนโดยต้องคำนึงถึงการศึกษาเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคของเทคโนโลยีสารสนเทศที่ก้าวล้ำนำโลกไปมาก การศึกษาก็ต้องพัฒนาไปให้ทันกับโลก สำหรับการศึกษาในประเทศไทย หากดูจากสภาพที่เกิดขึ้นในสังคมหลาย ๆ ฝ่ายกำลังเข้าใจเป็นไปในแนวทางเดียวกันคือการศึกษาของไทยกำลังมีปัญหา จะเห็นได้ว่าเป็นปัญหาที่ได้รับความสนใจจากสังคม ซึ่งมีการทำวิจัยออกมาหลาย ๆ ครั้งที่สะท้อนถึงความล้มเหลวของการศึกษาในบ้านเรา ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนไทยเปรียบเสมือนสายพานความป่วยไข้ทางสังคมที่สะท้อนถึงปรากฏการณ์ความอ่อนแอของทุกภาคส่วน ทั้งสถาบันครอบครัวอ่อนแอ พื้นที่อบายมุขขาดการควบคุม อันเป็นปฐมเหตุของปัญหาพฤติกรรมเด็กและเยาวชน ไม่ว่าเป็นปัญหาติดห้าง เที่ยวกลางคืน กินเหล้า สูบบุหรี่ และมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร อันจะนำไปสู่ผลกระทบกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามมาอย่างมากมาย

เคยมีการสัมมนาเรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาพฤติกรรมและค่านิยมทางสังคมที่ไม่เหมาะสมของนักเรียน นิสิต นักศึกษาในปัจจุบัน ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการ การศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ซึ่ง รศ.ดร.โภคิน พลกุล ประธานรัฐสภา กล่าวว่า ปัญหาพฤติกรรมและค่านิยมทางสังคมที่ผิดของวัยรุ่นไทยในปัจจุบันมีความรุนแรงจนกลายเป็นวิกฤติทางสังคม ซึ่งปัญหาอันดับหนึ่งคือ ยาเสพติด รองลงมาคือการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรโดยเฉลี่ยจะมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกอายุ 16 ปี เป็นที่มาของการทำแท้ง การทอดทิ้งเด็ก เด็กถูกทำร้าย การติดเชื้อเอดส์และการขายบริการทางเพศ นอกจากนี้ยังมีปัญหาอุบัติเหตุจากความมึนเมา คึกคะนอง ท้าทายกฎระเบียบ ส่วนปัญหาที่กำลังมีแนวโน้มขยายตัวและรุนแรงในวัยรุ่นคือ การทำร้ายผู้อื่นและทำร้ายตนเอง โดยการคิดฆ่าตัวตาย ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่มาจากความอ่อนแอของสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนาและชุมชน รวมถึงสื่อโดยเฉพาะโทรทัศน์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ดังนั้นจึงจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันและรีบแก้ไขปัญหาวัยรุ่น

ผลจากการติดตามการปฏิรูปการศึกษาในรอบ 6 ปี หลังการประกาศใช้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 โดยประเมินจากคุณภาพภายนอกสถานศึกษา 17,562 แห่งทั่วประเทศ คิดเป็นร้อยละ 49.1 ของโรงเรียนทั้งหมด พบว่า การจัดการเรียนการสอนของครูยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ ยังมีคุณภาพอยู่ในระดับร้อยละ 39.2 การจัดกิจกรรมที่กระตุ้นผู้เรียนให้รู้จักคิด วิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ คิดแก้ปัญหาและตัดสินใจ มีคุณภาพอยู่ระดับ ร้อยละ 13.5 และครูสามารถนำผลการประเมินมาปรับการเรียนและเปลี่ยนการสอนเพื่อพัฒนาคุณภาพเพียงร้อยละ 21.6 ของสถานศึกษาทั้งหมด การประเมินคุณภาพทางด้านผู้เรียนพบว่า ยังมีผลสัมฤทธิ์ ทางการเรียนระดับต่ำมากในทุกกลุ่ม โดยเฉพาะความสามารถในการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ มีวิจารณญาณและความคิดสร้างสรรค์ มีคุณภาพระดับดีเพียงร้อยละ 11.1 และการมีทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง รักการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง มีคุณภาพดีเพียงร้อยละ 26.5 ของสถานศึกษาทั้งหมด ส่วนผลการประเมินของผู้ตรวจราชการ พบว่า โครงสร้างการบริหารการศึกษาในส่วนกลาง ยังขาดการประสานเชื่อมโยงนโยบายและยุทธศาสตร์ ส่วนภูมิภาคพบว่าผู้แทนกระทรวงในจังหวัดยังไม่ชัดเจน การกระจายอำนาจไม่เป็นไปตามกฎหมาย ที่สำคัญครูจำนวนมากยังสอนแบบเดิม ขาดความรู้ในเนื้อหาวิชาและทักษะการจัดการเรียนการสอน โดยเฉพาะครูในโรงเรียนขนาดเล็กขาดโอกาสพัฒนามาก เพราะไม่สามารถทิ้งห้องเรียนได้ การติดตามผลยังไม่เข้มแข็ง ไม่ได้ถูกนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ทางการศึกษา

This entry was posted in การศึกษา. Bookmark the permalink.

Comments are closed.