ปัญหาทางการศึกษาของเด็กไทย

การศึกษาของเด็กไทยที่ผ่านมา มีความพยายามในการยกระดับมาตรฐานทางการศึกษาของเด็กและเยาวชนเพื่อให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ เนื่องจากในการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กไทยในแต่ละปี ผลที่ออกมามักอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน

แม้ประเทศไทยจะมีการทุ่มงบประมาณเพื่อพัฒนาการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นโครงการเรียนฟรี 15 ปี รวมถึงโครงการผลิตครูการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับปริญญาตรี (หลักสูตรครู 5 ปี) การประเมินวิทยฐานะ ซึ่งทำให้ครูที่มีผลงานดีได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น แต่เหตุใดปัญหาการศึกษาของเด็กไทยยังมีการประเมิณว่าอยู่ในเกณฑ์ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ซึ่งปัญหาด้านการเรียนของเด็กไทยในปัจจุบันอาจวิเคราะห์ได้ว่ามาจากหลายประการ

ปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้เด็กมีผลการเรียนอ่อนลง มาจากความสนใจของตัวเด็กเองที่พบว่าเด็กให้ความสนใจเรื่องของเกม และสื่อเพื่อความบันเทิงมากขึ้น ทำให้ความสนใจในการศึกษาหาความรู้ลดน้อยลง ทั้งนี้ เนื่องมาจากสภาพสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นครอบครัวเดี่ยว พ่อแม่ทุ่มเวลาหาเงิน ทำงาน และใช้เงิน ใช้เทคโนโลยีเลี้ยงดูเด็ก เช่น ซื้อทีวี ซื้อเครื่องเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ให้ลูกเล่นอยู่บ้าน เพราะคิดว่าดีกว่า ปลอดภัยกว่าที่จะให้ลูกไปเล่นนอกบ้าน ซึ่งจะทำให้เกิดผลเสียต่อพัฒนาการ

ปัญหาการสอบแอดมิดชั่น เนื่องจากระบบการสอบแอดมิดชั่น เน้นคะแนนสอบเพียงบางวิชาและไม่เน้นความรู้ในเชิงลึกเหมือนการสอบในสมัยเก่า

ปัญหาจากครูผู้สอน ทั้งในเรื่องเงินเดือน และการฝึกฝนเรียนรู้ของครูให้เท่าทันศาสตร์ต่างๆ เพื่อจะไปสอนให้ทันกับเทคโนโลยีและความรู้ใหม่ๆ โดยที่ผ่านมาสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) (สมศ.) เปิดเผยผลการประเมินคุณภาพภายนอก ทั้งระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับอาชีวศึกษาและระดับอุดมศึกษา ซึ่งพบว่ามีสถาบันการศึกษาที่ไม่ผ่านการรับรองผลคิดเป็นร้อยละ 19.59 โดยในเบื้องต้นพบว่าสถานศึกษาที่ไม่ผ่านการรับรองมีปัญหาสำคัญมาจากคุณภาพครูเป็นปัจจัยสำคัญ

ดังนั้นหากมองย้อนถึงปัญหาทางการศึกษาของเด็กไทย และการกระตุ้นเม็ดเงินเพื่อช่วยเหลือจึงอาจต้องมุ่งเน้นที่การพัฒนาบุคคลากรให้มากยิ่งขึ้น เพราะการที่บุคคลากรด้านครูยังขาดการพัฒนาทางความรู้และการศึกษา ก็จะส่งผลให้ไม่เกิดการพัฒนาทางการเรียนการสอน และทำให้เด็กไม่สนใจเรียนในที่สุด และท้ายที่สุดแล้วก็จะส่งผลให้บัณฑิตที่ผลิตออกไปนั้น ไม่สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานในสาขาที่ตลาดแรงงานในประเทศต้องการ และขาดแคลนแรงงานในที่สุด

This entry was posted in การศึกษา and tagged . Bookmark the permalink.

Comments are closed.